วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เทคนิคถ่ายวีดีโอง่ายๆ



1. คิดและวางแผนก่อนถ่ายวีดีโอ

ก่อนที่เราจะถ่ายวีดีโอในเหตุการณ์หรืองานอะไรก็แล้วแต่ เราจะต้องคิดและวางแผนก่อนว่า เราต้องการที่จะนำเสนออะไรในวีดีโอของเรา เช่น ผมไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดกับกลุ่มเพื่อนๆ ผมต้องการถ่ายวีดีโอที่เก็บบรรยากาศทั้งหมดว่าไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง มีกิจกรรมอะไรที่ทำบ้าง และบรรยากาศในขณะนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เราสามารถเขียนออกเป็นรายละเอียดได้ดังนี้

- ป้ายสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และสภาพแวดล้อม เพื่อจะได้รู้ว่าไปเที่ยวที่ไหนกัน และเป็นอย่างไรบ้าง







- บรรยากาศในขณะนั้น เช่น อาจจะถ่ายวีดีโอ candid เพื่อนๆ







- มีกิจกรรมอะไรที่ทำบ้าง เช่น แวะซื้อของ เดินป่า เล่นน้ำตก







เมื่อเราแยกย่อยลงไปในแต่ละช็อต เราก็ต้องคิดอีกทีครับว่า เราจะจัดวาง composition ในการถ่ายวีดีโอเป็นอย่างไร ให้ตรงกับความต้องการของเรา เช่น ในขณะที่กำลังนั่งเรือ เราอยากจะให้เห็นบรรยากาศเพื่อนๆในขณะนั่งเรือพร้อมกับวิวทิวทัศน์







2. โฟกัสจุดที่เราสนใจในการถ่ายวีดีโอ

ก่อนที่เราจะกดบันทึกวีดีโอ เราจะต้องรู้ตัวเองดีว่า ในช็อตนี้เราต้องการที่จะถ่ายอะไร เราจะต้องถ่ายให้สำเร็จก่อนที่จะไปถ่ายสิ่งอื่นๆ เช่น ในขณะที่เรากำลังถ่ายเพื่อนของเราในงานรับปริญญาอยู่ เพื่อนของเรากำลังยืนถ่ายรูปกับเพื่อนๆอยู่ ขณะที่เรากำลังถ่ายวีดีโออยู่ มีผู้หญิงสวยคนหนึ่งเดินผ่านเราไป เราจะต้องถ่ายวีดีโอเพื่อนเราให้เสร็จก่อนที่จะหันกล้องไปถ่ายผู้หญิงสวยคนนั้น (ถ้าเดินไปไกลแล้วก็ถือว่าไม่ได้เป็นเนื้อคู่กัน ^ ^ )



จุดประสงค์หลักในข้อนี้ คือ ต้องการให้เรามีสมาธิในการถ่าย เพราะจะทำให้การจัดวาง composition มีความแน่นอน และกล้องก็จะไม่สั่นด้วย

3. ความยาวของวีดีโอในแต่ละช็อต

ธรรมชาติของคนเราเมื่อดูสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตาของคนเราจะจดจ้องกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อยู่นิ่งๆได้ไม่นาน เช่น เราดูวีดีโอการบรรยายของวิทยากร ถ้าการถ่ายวีดีโอมีเพียงการถ่ายเฉพาะวิทยากรที่กำลังนั่งบรรยายอยู่ (uncut video) เราดูได้ซักพักก็จะรู้สึกเบื่อ ง่วงนอน นั่นคือธรรมชาติของคนครับ



เราไม่ควรจะตัดต่อวีดีโอในแต่ละช็อตให้ยาวนานเกินไป ควรจะตัดต่อวีดีโอจากการถ่ายวีดีโอหลายๆมุม เช่น normal view + bird eyes view + worm view และใช้รูปแบบการถ่ายหลายๆรูปแบบ เช่น wide shot + medium shot + close up ผสมผสานกันไป เวลาตัดต่อวีดีโอก็ตัดสลับไปมาระหว่างช็อตต่างๆ เช่น ในขณะที่วิทยากรกำลังบรรยาย เราก็อาจเอาบรรยากาศคนกำลังนั่งฟังเข้ามาแทรก (cutting shots) เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจของคนดู



นอกจากนี้แล้ว พวก cutting shots ยังสามารถใช้สื่อความหมายของเหตุการ์ที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น ช็อตแรกเป็นหนูกำลังมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ทำให้ไม่กล้าลงไป ตัดมาช็อตที่สองเป็นรูปงู เป็นการสื่อความหมายว่าที่หนูไม่กล้าลงไปเพราะมีงูอยู่ด้านล่างนั่นเอง



4. ใบหน้าถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีที่สุด

ถ้าเราต้องการจะสื่อสารถึงอารมณ์ของตัวละครในฉาก สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ดวงตา เพราะดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ ปกติการถ่ายวีดีโออาจจะเริ่มที่ wide shot เพื่อให้เห็นบรรยากาศโดยรวมในขณะนั้น ฉากต่อมาอาจจะเป็น medium shot ระหว่างคนสองคนกำลังคุยกัน แต่พอเมื่อถึงจังหวะที่ต้องการจะสื่อสารถึงอารมณ์ในตัวละคร เช่น กำลังมีความสุข เศร้า หรือกำลังคิดวางแผนอะไรอยู่ เราจะต้องถ่ายวีดีโอแบบ close up เพื่อให้เห็นดวงตาที่ชัดเจนของผู้พูด

5. ซูมด้วยเท้าก่อนเป็นอันดับแรก

ยิ่งมีการใช้การซูมมากเท่าใด กล้องวีดีโอก็จะยิ่งมีความสั่นมากขึ้นเท่านั้น เป็นผลให้วีดีโอของเราไม่สามารถดูได้ เคยมีคนเคยคำนวณเอาไว้ว่า ถ้าเราซูมเข้าไป 10 เท่า การสั่นของกล้องวีดีโอก็จะเกิดขึ้น 10 เท่า

อันดับแรกที่จะแนะนำ คือ ใช้วิธีการเดินเข้าไปหาวัตถุแล้วถ่ายวีดีโอ โดยปรับค่าการซูมเป็นแบบกว้างที่สุด วิธีนี้ถึงแม้ว่ามือของเราจะสั่นเล็กน้อยในขณะทำการถ่าย แต่เนื่องจากกล้องวีดีโอมีระบบ image stabilization อยู่ จะทำให้มองไม่เห็นการสั่นเล็กน้อยเหล่านี้



ถ้าเราไม่สามารถเดินเข้าไปถ่ายวัตถุใกล้ๆได้ เช่น ถ่ายวีดีโอสัตว์ที่อยู่ในกรง ให้เราใช้ขาตั้งกล้องวีดีโอช่วย โดยเราต้องเลือกขาตั้งกล้องให้เหมาะกับกล้องวีดีโอของเราด้วย



กล้องวีดีโอจะมีระบบการซูม 2 แบบ คือ Optical zoom and Digital zoom ให้เราปิดการทำงานแบบ Digital zoom เพราะว่ามันเป็นการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งส่งผลให้คุณภาพที่ได้จากวีดีโอลดน้อยลง



การซูมยังมีผลต่อระบบโฟกัสอีกด้วย โดยเฉพาะระบบ auto focus เมื่อเราทำการซูมไปที่วัตถุหนึ่ง เมื่อวัตถุนั้นมีการเคลื่อนที่ กล้องวีดีโออาจจะเกิดการเบลอเป็นช่วงๆ เนื่องมาจากการซูมจะทำให้มีโอกาสหลุดโฟกัสสูง

6. Move – Point – Shoot – Stop

หลักการถ่ายวีดีโอง่ายๆมีอยู่ 5 ข้อครับ คือ

- Move เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่เราคิดว่า จะได้ช็อตที่ตรงกับความต้องการของเรา เช่น ถ้าเราต้องการถ่ายวีดีโอคู่บ่าวสาวเดินเข้ามาในงาน ให้ดูแล้วได้อารมณ์แบบยิ่งใหญ่ เราก็ต้องไปอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าคู่บ่าวสาว แล้วย่อตัวลงถ่ายวีดีโอในมุม worm view



- Point หลังจากได้ตำแหน่งแล้ว ให้เราทำการจัด composition ของเราให้เรียบร้อยก่อนที่จะถ่าย ในบางช่วงเวลาเราจะต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นช็อตที่ต่อเนื่องกันมา ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการถ่ายวีดีโอของเราเอง เช่น จากตัวอย่างด้านบน ถ้าเราจัด composition ได้ช้า เราก็จะได้ช็อตที่คู่บ่าวสาวก็จะเดินมาถึงเราสั้นๆ ทำให้การตัดต่อวีดีโออาจจะไม่ค่อยสวยงามเท่าไร



- Shoot หลังจากจัด composition แล้ว เราก็จะเริ่มถ่ายวีดีโอ โดยส่วนมากแล้วเราจะตั้งกล้องแบบนิ่งๆ วัตถุที่เคลื่อนที่เข้ามาจะเป็นจุดสนใจของผู้ชม หรือบางกรณีเราอาจจะเคลื่อนที่กล้องไปตามวัตถุ เพื่อที่จะสื่อสารถึงอารมณ์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ข้อแนะนำอย่างหนึ่งในการถ่าย คือ ไม่ควรใช้การซูมเข้าซูมออกในขณะถ่าย เพราะจะทำให้คนดูสับสนว่า จุดสนใจในช็อตนั้นมันคืออะไร

- Stop หลังจากที่เราถ่ายได้ช็อตที่เราต้องการแล้ว เราก็จะต้องเคลื่อนที่ไปหาตำแหน่งใหม่อีก เพื่อที่จะไปถ่ายช็อตที่เราต้องการต่อไป ทำอย่างนี้วนไปเรื่อยๆ

7. พยายามให้แสงอยู่ด้านหลังเรา

เดี๋ยวนี้กล้องวีดีโอสมัยใหม่จะมีโหมดการปรับแสงอัตโนมัติ ถ้ามีแสงสว่างมากเกินไปก็จะมีการเปิดรูรับแสงให้เล็กลง ในทางตรงกันข้ามถ้ามีแสงไม่เพียงพอ ก็จะมีการเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น



ระบบกล้องวีดีโอจะเกิดการสับสนถ้าในช็อตเดียวกันมีสภาพแสงที่แตกต่างกันมาก เช่น การถ่ายวีดีโอหมู่นอกอาคาร บางคนที่โดนแดดก็จะสว่างมาก คนไหนที่ไม่โดนแดดก็จะดูมืดเกินไป วิธีเบื้องต้นในการแก้ไข คือ เปลี่ยนตำแหน่งในการถ่าย หรือถ้าไม่สามารถย้ายตำแหน่งได้จริงๆ เราอาจจะใช้วิธีหาอะไรบังคนที่โดนแดด และมีข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาถ่ายวีดีโอ เราควรจะให้แสงอยู่ทางด้านหลังของเรา เพื่อส่องไปยังวัตถุที่อยู่ด้านหน้าของเรา เช่น การถารถ่ายวีดีโอในอาคาร เราไม่ควรจะให้วัตถุอยู่บริเวณริมหน้าต่าง เพราะแสงอาทิตย์จะส่องมาทางด้านหลัง ทำให้เป็นการถ่ายย้อนแสง ผลที่ได้ คือ วัตถุจะมีลักษณะเป็นภาพ Silhouette เงาดำมืด



การถ่ายวีดีโอในสถานที่ที่มีแสงไม่เพียงพอ การปรับรูรับแสงให้ใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะทำให้ภาพสว่างขึ้น แต่ผลที่ได้เพิ่มเติมก็คือ ภาพจะแตกเป้นเม็ดๆ และสีในภาพของเราจะซีด ไม่สดเหมือนกับธรรมชาติทั่วๆไป



8. อย่าใช้ effect ใดๆในกล้องวีดีโอ

เวลาเราถ่ายวีดีโออะไรก็ตาม เราไม่ควรจะใช้ฟังก์ชั่น effect ต่างๆที่กล้องวีดีโอมีให้ เช่น night vision, posterizing, sepia หรืออื่นๆ เพราะว่าเมื่อเราใช้แล้ว เราไม่สามารถที่จะแก้ไขวีดีโออันนั้นให้กลับมาเป็นปกติได้อีก เราควรจะถ่ายวีดีโอแบบปกติธรรมดา เมื่อเราได้ footage นั้นมาแล้ว ค่อยนำไปปรับแต่งแก้ไขในโปรแกรมตัดต่อวีดีโออีกที วิธีการนี้จะช่วยทำให้เราสามารถใช้วีดีโอได้ในหลากหลายสถานการณ์



9. ชนิดของงานแปรผันกับความยาวของวีดีโอทั้งหมด

ในหัวข้อนี้จะพูดถึงเรื่องความยาวของวีดีโอทั้งหมดหลังจากตัดต่อเสร็จแล้ว เราจะต้องคิดและวางแผนตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่า เราถ่ายวีดีโอเพื่อที่จะไปนำเสนออะไร เช่น ถ้าเราถ่ายวีดีโอเพื่อทำ wedding presentation ให้กับคู่บ่าวสาว วีดีโอของเราควรจะมีความยาวไม่เกิน 10 นาที เราก็จะต้องคิดว่าในแต่ละฉาก ควรจะมีความยาวประมาณเท่าไร ฉากสัมภาษณ์ไม่ควรเกิน 2 นาที ฉากริมทะเลประมาณ 3 นาทีประมาณนี้ ถ้าเราทำวีดีโอที่มีความยาวมากเกินไป นอกจากจะทำให้น่าเบื่อแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

10. ไมโครโฟนภายนอกเป็นสิ่งจำเป็น

ปัญหาที่พบกันบ่อยๆในการถ่ายวีดีโอ คือ เรื่องเสียง เพราะว่าส่วนมากแล้วเราจะใช้ไมโครโฟนที่ติดมากับตัวกล้องถ่ายวีดีโอ ผลที่ได้ก็คือ ทั้งเสียงรถ เสียงคนคุยกัน เสียงเด็กร้องไห้ จะมารวมอยู่ในวีดีโอของเราหมด เพราะว่าไมโครโฟนที่ติดอยู่กับตัวกล้องมีลักษณะ คือ รับเสียงจากทุกทิศทางเข้ามาในตัวกล้อง



วิธีแก้ไขง่ายๆคือ เราต้องเอากล้องวีดีโอไปใกล้แหล่งกำเนิดเสียงให้มากที่สุด ซึ่งจริงๆแล้ววิธีนี้ อาจใช้ไม่ได้ในบางกรณี เช่น ผู้พูดอยู่บนเวที เราจึงต้องใช้ไมโครโฟนภายนอก (External Microphone) ช่วยในการบันทึกเสียง เราอาจจะใช้วิธีต่อสายไมโครโฟนเข้ากับกล้องเพื่อบันทึกเสียงโดยตรง หรืออาจจะใช้วิธีบันทึกเสียงแยกต่างหาก แล้วใช้โปรแกรมตัดต่อวีดีโอนำเสียงนั้นมา Sync กับวีดีโออีกที






ที่มา  http://www.xn--l3cdl7ac1a7b0al6ab0nxc.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%86/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น